วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธชยันตี คืออะไร

 

 

                        

ที่มา/อ้างอิง  :

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พุทธชยันตี คืออะไร

ที่มาและความสำคัญพุทธชยันตี

พุทธชยันตี (बुद्ध जयंती, Buddha Jayanti) เป็นชื่อเรียกงานเฉลิมฉลองหรือพิธีบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในวาระแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชาในประเทศไทยนั่นเอง พุทธชยันตีนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวพุทธนานาชาติอย่างในประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงการเฉลิมฉลอง  พุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ (ถือกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล) แต่สันนิษฐานว่ามีการเริ่มต้นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้  ภายหลังจากที่ประเทศศรีลังกา  ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๙๑ และจากการที่ ดร.อัมเบดการ์ (Dr.Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) ได้ฟื้นฟูพุทธสาสนาในประเทศอินเดีย โดยมีการนำชาวอินเดียประมาณ ๒ แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๙๙ (อินเดีย ศรีลังกา นับเป็นพ.ศ.๒๕๐๐ เร็วกว่าไทย ๑ ปี) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ นอกจากนี้รัฐบาลประเทศอินเดียยังได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ด้วย สำหรับรัฐบาลไทย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ ด้วยการสร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน ประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยกำหนดให้วันพระหรือวันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ  (ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๙) และมีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุดฉบับแรก เป็นต้น สำหรับการเฉลิมฉลองในระดับนานาชาตินั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “ฉัฏฐสังคีติ” คือการสังคายนาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติ โดยทางพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๖ แล้วได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก

พุทธชยันตีหมายความว่าอะไร?

       พุทธชยันตี โดยรากศัพท์ของคำว่าชยันตีมาจากคำว่า “ชย” คือชัยชนะ อันหมายถึง  ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก พุทธชยันตีจึงมีความหมายว่าเป็น การตรัสรู้และ การบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ในปัจจุบันพุทธชยันตียังถูกตีความในความหมายถึงชัยชนะของพุทธสาสนาและชาวพุทธด้วย เช่น การได้รับเอกราชและมีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นครั้งแรกของชาวพุทธในประเทศศรีลังกา  การฉลองปีใหม่ชาวพุทธโดยไม่มีเหล้าสุรายาเสพติดสิ่งมึนเมาทั่วทั้งประเทศศรีลังกา  การเอาชนะสิ่งเลวร้ายในสังคมจนทำให้ประเทศศรีลังกามีสถิติอาชญากรรมต่ำมากๆ

            สำหรับวาระสำคัญในปีปัจจุบันเนื่องในมหาธัมมาภิสมัย พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้นั้น ถ้าถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทยอยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชา  ๒๕๕๔ – วิสาขบูชา ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชา ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้ (๑๗ พ.ค.๒๕๕๔) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒๕๙๙ ปีเต็ม และเริ่มเข้าสู่ปีที่ ๒,๖๐๐ แห่งการตรัสรู้  โดยคำนวณจากการนำปีพุทธศักราชที่เริ่มนับหลังจากการปรินิพพาน บวกด้วย ๔๕ อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังการตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน (สูตรการคำนวณ จำนวนปีการตรัสรู้ = ปี พ.ศ. + ๔๕) ดังนั้นในวันวิสาขบูชาปีพ.ศ.๒๕๕๕ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปีบริบูรณ์ ในประเทศต่าง ๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็งได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา ๓  ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ดังเช่นในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดียเป็นต้นได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัวและยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดงานในระดับภาคประชาชนกว่า ๒ ปีที่ผ่านมาในวงจำกัด ส่วนในระดับรัฐบาล สมควรที่รัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ อย่างเป็นทางการ


ที่มา/อ้างอิง  :
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น